สาวๆหลายคนคงเคยพบเจอปัญหาการนอนกัดฟันมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นจากคนรอบข้างเช่นเพื่อน พ่อแม่ คนรัก ที่อาจจะส่งผลทำให้เรานอนไม่หลับ หรือจะเป็นตัวเราเอง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เสียสุขภาพได้ด้วย แต่อย่าเพิ่งคิดว่าปัญหานี้จะแก้ไขไม่ได้เพราะเกิดในตอนที่เราไม่รู้ตัว (เพราะกำลังนอนหลับอยู่) นะคะ!! เพราะอาการกัดฟันสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ค่ะ!!
แต่ก่อนอื่นเรามาดู ‘ผลเสีย’ ของการกัดฟันกันก่อน
การนอนกัดฟันนั้นมีผลเสียเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ที่แน่ๆ คืออาจจะเกิดเสียงดัง ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงหรือนอนอยู่ใกล้ๆ เกิดความรำคาญจนนอนไม่หลับ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้น ถ้ากัดแบบขบไว้เฉยๆ ก็อาจจะไม่มีเสียงก็ได้
และนอกจากนั้นก็เกิดผลเสียกับฟันของเราอีกด้วย การกัดฟันบ่อยๆ ทำให้ฟันสึกลงๆ โดยไม่สมควร คือยังไม่ทันจะได้ไปเคี้ยวอาหารอะไรให้เอร็ดอร่อย ฟันก็สึกลงแล้วอย่างน่าเสียดาย (เอาไว้ไปสึกนิดๆ หน่อยๆ ตอนเคี้ยวส้มตำ ขนมเค้ก บาร์บีคิว ที่อร่อยปากยังจะดีเสียกว่าจริงไหม)
ถ้าการกัดฟันเป็นไปอย่างรุนแรง อาจจะทำให้ฟันบิ่นหรือแตกได้เลยเชียว และถึงจะไม่แตก การนอนกัดฟันเป็นการใช้กล้ามเนื้อขากรรไกรอยู่ตลอดเวลา เมื่อตื่นนอนขึ้นมาผู้นอนอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณฟัน ปาก ขากรรไกร ปวดขมับ ปวดศีรษะหรือตึงหรือชาที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหรือเสียวฟันหลายซี่ ถ้าหนักเข้าก็อาจจะทำให้ใบหน้ากางออกใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่จากการกัดฟันบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง (เพราะเหมือนการใช้งานกล้ามเนื้อ บ่อยๆ เข้าก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมันแข็งแรงขึ้นแบบที่เราไม่ได้ต้องการนั่นเอง)
ทีนี้มาดู ‘สาเหตุ’ ของอาการกัดฟันกันบ้างดีกว่าค่ะ
ผลการศึกษาก็พบความสัมพันธ์ระหว่างอาการนอนกัดฟันกับลักษณะสองสามประการของผู้ที่มีปัญหานี้คือ
1) ความเครียด
พบว่าผู้ที่มีความวิตกกังวลในบางช่วงเวลา ในการทำงาน หรือการเรียน เช่นช่วงที่ต้องเตรียมงานสำหรับลูกค้าสำคัญบางราย หรือช่วงใกล้สอบ ช่วงที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกับสภาวะเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้มีโอกาสทำให้เกิดการนอนกัดฟันได้มากขึ้น
2) เกิดจากสภาพร่างกาย
จุดนี้อาจจะเป็นจุดเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกายได้ คือปัญหาเกิดจากสภาพในช่องปากที่มีการสบฟันไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดโดย ธรรมชาติ เกิดจากการอุดฟัน ใส่ฟัน ทำให้ฟันบางซี่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดการสะดุดเวลาบดเคี้ยวอาหาร ส่งผลทำให้การสบฟัน เปลี่ยนไป และกระตุ้นให้ร่างกายพยายามปรับความไม่สม่ำเสมอนั้นลงโดยการกัดขบส่วนที่ไม่เสมอนั้น ทำให้มีการกัดเน้นฟันตลอดเวลานอน
3) เกิดจากอาหารบางชนิด
จากการศึกษายังพบว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด เป็นต้น) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และยาที่ใช้รักษาโรคบางตัวเช่น แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa หรือยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) ซึ่งได้มาจากแอมเฟตามีน หรือผู้ที่ใช้ยาฟีโนเธียซีน (Phenothiazine) เป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มระดับการกัดฟันด้วย
และเมื่อเรารู้สาเหตุกันแล้ว ก็มารักษาอาการกัดฟันด้วยวิธีที่ถูกต้องกันเถอะค่ะ
วิธีการก็แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ก็คือการพยายามแก้ที่สาเหตุ และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
1) จัดการความเครียด
โดยการหาวิธีผ่อนคลายความเครียด หรือลดความเครียดลงให้ได้ การจัดการกับความเครียดก็เช่น ถ้ามีปัญหาเรื่องการงานหรือการเรียน ก็ให้พยายามแก้ไขหรือวางแผนหาวิธีแก้ไขเอาไว้ให้เสร็จสิ้นก่อนการนอนหลับพักผ่อน อาจจะโดยการค้นคว้าเพิ่มเติม การหาผู้ช่วย การหาที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไป ปัญหาเรื่องการเรียนก็เช่นกัน อาจจะวางแผน และ/หรือทำการศึกษาเพิ่มเติม หาตำราหรือครูอาจารย์ที่สามารถสอนให้เราเข้าใจในบทเรียนได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดลงได้
นอกจากนั้นการเล่นกีฬาออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่จะลดความเครียด และน่าจะดีกว่าการใช้ยาลดความเครียด (เดี๋ยวกลายเป็นติดยาลดความเครียด เลยเครียดหนักกว่าเดิม)
2) แก้ไขสภาพภายในช่องปาก
หากการกัดฟันทำท่าจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของช่องปาก เช่นลักษณะการสบฟันไม่ดี ก็ต้องแก้ไขที่จุดนี้ ถ้าจะว่าไปนี่ก็เป็นการแก้ไขที่ชัดเจนที่สุดในบรรดาหลายๆ สาเหตุเลย (อย่างน้อยก็จับต้องได้) เมื่อสภาพปากและฟันดีขึ้น ปัญหาการนอนกัดฟันจากสาเหตุนี้ก็น่าจะลดลงได้
3) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด
ถ้าผู้ที่นอนกัดฟัน มีแนวโน้มว่าดื่มเครื่องดื่มที่อาจจะทำให้เพิ่มความเครียดได้อยู่เป็นประจำ ก็ควรจะทดลองลดเครื่องดื่มประเภทนี้ลงค่ะ อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยการลดเครื่องดื่มพวก ชา กาแฟ ที่มีคาเฟอินลง ก็น่าจะทำให้หลับสนิทได้ดีขึ้น
4) จัดการกับปัญหา
นอกจากข้อ 1-3 ด้านบนแล้ว หากปัญหายังอยู่ (หรือแม้แต่ในระหว่างที่จัดการแก้ไขด้วยวิธีการในข้อ 1-3 ก็ตาม) ก็ต้องมีการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเราจากการนอนกัดฟัน ซึ่งก็มีวิธีต่างๆ ตั้งแต่การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใส่เครื่องป้องกันขณะนอนหลับ (Nightguard) ไปจนถึงการใช้เฝือกการสบฟัน (Occlusal Splint) ซึ่งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกการสบฟันไประยะหนึ่ง (อาจจะเกะกะหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้นะคะ)
อย่างไรก็ตามการรักษาที่มีในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป วิธีที่ดีที่สุดอันหนึ่งก็คือปรึกษาทันตแพทย์ถึงการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนด้วย
ถ้าสาวๆคนไหนมีอาการกัดฟันหรือมีแนวโน้มว่าจะกัดฟันขณะนอนหลับก็อย่าลืมไปลองแก้ปัญญากันด้วยนะคะ อย่าคิดว่านอนคนเดียวหรือคนข้างๆไม่บนแล้วไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะส่งผลระยะยาวกับสุขภาพของเราได้นะคะ หรือถ้ามีคนรอบข้างที่มีอาการกัดฟันก็อย่าลืมส่งให้เขาได้อ่านเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกันด้วยนะคะ!!
เรียบเรียงโดย raraROBYN
ที่มา postjung