เป็นเรื่องขึ้นมาอีกแล้ว เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งกินและฉีดยา “กลูต้าไธโอน” จนถึงขั้นตับพัง หายใจเองไม่ได้
จริงๆ ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยบ่อยครั้ง แต่กระแสฉีดสารทำให้ผิวขาวก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะในทางการแพทย์กลูต้าไธโอนเป็นยา “อันตราย” และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขประกาศ “ห้ามไม่ให้แพทย์ใช้” การรักษาด้วยวิธีนี้
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลูต้าไธโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกายที่สามารถสร้างขึ้นเอง จากอาหาร ประเภทโปรตีน ไข่และนม รวมถึงผลไม้ประเภทอะโวคาโด และจะถูกเก็บไว้ที่ตับ สามารถพบได้ทุกเซลล์ในร่างกาย
“ผลข้างเคียงที่น่ากลัว คือ การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำมีโอกาสที่จะแพ้ได้ ทั้งการแพ้สารกลูต้าไธโอน เอง หรืออาจจะแพ้สารฆ่าเชื้อ สารกันเสีย หรือสารปนเปื้อน ทั้งนี้มีรายงานในต่างประเทศว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดกลูต้าไธโอนมากจนเกินไป จะเกิดอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”
ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย พบยาปลอมที่ผลิตในประเทศเวียดนามและจีน
“การที่ได้รับสารกลูต้าไธโอนเป็นเวลานานๆ จะทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลงเสี่ยงต่อการมองเห็น มีผลต่อแร่ธาตุในกระบวนการเมตาบอลิซึม และยังอาจกลายเป็นอนุมูลอิสระมาทำร้ายร่างกายได้”
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศห้ามแพทย์ใช้การรักษาด้วยวิธีนี้
“ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างว่าสามารถช่วยให้ผิวขาวขึ้น เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่จะทำให้ผิวขาวขึ้นได้อย่างถาวร ผลิตภัณฑ์หรือยาอาจจะช่วยได้ชั่วคราว แต่เมื่อหมดฤทธิ์ร่างกายก็จะผลิตเม็ดสีตามปกติ”
ผศ.พญ.สุวิรากรย้ำ ว่า การที่คนในแถบเอเชียมีผิวคล้ำถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์เพราะสามารถป้องกัน แสงอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ได้ ทำให้โอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนังน้อยกว่าคนผิวขาว จึงไม่ควรมีค่านิยมที่ผิดในการเปลี่ยนสีผิวให้ขาวผิดธรรมชาติ+
“ขอเตือนว่ากลูต้าไธโอนเป็นยาที่มีอันตรายมาก การเสริมสวยไม่มีความจำเป็นต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงกับความเป็นความตาย เพื่อแลกความขาวของสีผิว โดยความขาวดังกล่าวก็ไม่ยั่งยืนอะไร พอสารหมดฤทธิ์แล้วสีผิวก็จะกลับมาเป็นอย่างเก่า แต่อันตรายจะยังคงตกค้างในร่างกายตลอดไปด้วย” รู้อย่างนี้แล้วก็ระมัดระวังกันด้วยนะคะ
ขอบคุณเนื้อหาจาก: สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศ ไทย www.dst.or.th