เช็กให้ชัวร์! รวม 5 อาการส่อแววที่จะทำให้ท้องผูกไม่รู้ตัว

หลายคนอาจมองว่า การขับถ่ายถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำในทุกวัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการขับถ่ายของแต่ละคนนั้นจะมี “ความปกติ” ที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจ 2-3 วันถ่ายที หรือบางคนอาจขับถ่ายได้ทุกวัน เป็นต้น แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะพฤติกรรมการถ่ายที่เป็นปกติอาจมีความผิดปกติที่แอบซ่อนจนทำให้เกิดเป็นอาการท้องผูกก็เป็นได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการแบบไหนถึงเรียกว่าท้องผูก? แล้วเราควรเช็กตัวเองได้อย่างไร? วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปสำรวจตัวเองผ่าน 5 เช็กลิสต์ที่จะช่วยดูว่าระบบขับถ่ายของตัวเองกำลังมีปัญหาหรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกัน!

ท้องผูกเกิดจากอะไร?

                ก่อนที่จะไปดูว่าการขับถ่ายยากนั้นมีอาการบ่งชี้อย่างไร เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ท้องผูกนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการการขับถ่ายยากนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • พฤติกรรมการกิน เช่น การดื่มน้ำน้อย การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย รวมถึงภาวะขาดเกลือแร่และน้ำ
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การอั้นอุจจาระ ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ภาวะเครียดสะสม ภาวะอ้วน และการขาดการขยับร่างกายและออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยากลุ่มที่มีแคลเซียมและธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ รวมไปถึงยารักษาโรคซึมเศร้า และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น

รวม 5 อาการยอดฮิตที่คนถ่ายยากต้องเคยเจอ

                ในความเป็นจริงแล้ว อาการท้องผูกอาจเกิดขึ้นได้นอกเหนือจากสาเหตุที่บอกไปข้างต้น ดังนั้น หากพบอาการผิดแปลกใด ๆ หรือพบว่ามีอาการปวดท้องผิดปกติ ทางที่ดีที่สุด คือ อย่านิ่งนอนใจและควรรีบไปปรึกษาและให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติเหล่านั้น ซึ่งหากไม่แน่ใจว่าระบบขับถ่ายของตัวเองมีความผิดปกติหรือไม่ วันนี้เราได้รวบรวม 5 เช็กลิสต์ง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนตรวจดูอาการท้องผูกเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. ท้องอืดบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และในบางครั้งอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  2. อุจจาระไม่ออก หรือ หากออกก็มักมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ และต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ ในบางครั้งอาจรู้สึกว่าถ่ายไม่สุดและรู้สึกหน่วง ๆ ที่ท้อง
  3. รู้สึกปวดอุจจาระแต่พอไปเข้าห้องน้ำกลับไม่มีอุจจาระออกมา
  4. มีอาการเจ็บทวารหนักขณะถ่าย บางครั้งถ่ายแล้วมีเลือดปน
  5. ลองปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการท้องผูกแล้วพบว่าถ่ายยากเหมือนเดิม ซึ่งหากพบอาการนี้ คุณต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะภายในลำไส้อาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายร่วมด้วย