เชื่อว่า ‘อาการร้อนใน’ เป็นอาการที่สาวๆทุกคนกลัว เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วนอกจากจะเจ็บแสบแล้วยังทำให้ทานอาหารไม่อร่อยอีกด้วย!! ซึ่งวันนี้ Girlsallaround.com จะมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับร้อนใน ว่าร้อนในเกิดขึ้นได้อย่างไร แก้ไขยังไง และทานอะไรจะช่วยลดร้อนในได้บ้าง ถ้าอยากรู้คำตอบแล้วต้องติดตามเลยค่ะ!!
‘ร้อนใน’เกิดจากอะไรกันนะ?!
ร้อนในหรือแผลร้อนใน (Apthous Ulcer) คือ แผลเปิดภายในช่องปากเกิดจากการแตกของเยื่อเมือก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุอย่างชัดเจนได้ว่าร้อนในเกิดขึ้นจากอะไร แต่มีหลายปัจจัยที่มักจะก่อให้เกิดอาการร้อนในขึ้น เช่น
– การนอนดึก อดนอนเป็นประจำ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
– ความเครียด ความเหนื่อยล้า
– การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงในช่วงก่อนประจำเดือนมา หรือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ มักมีอาการร้อนในเกิดขึ้น
– การแพ้อาหารบางชนิด
– การขาดวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก
– การสูบบุหรี่
แต่สำหรับทางการแพทย์แผนจีน จะมองว่าอาการร้อนในเกิดจาก “หยินหยาง” ในร่างกายไม่สมดุลกัน หากใครมี “หยิน” พร่อง เมื่อได้รับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย ก็จะเป็นร้อนในได้ง่าย ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกายก็อย่างเช่น ทานของมัน ของทอด อากาศร้อน พักผ่อนน้อยไป
‘ร้อนใน’ เป็นอย่างไร??
คนที่เป็นแผลร้อนใน เริ่มแรกจะมีแผล หรือตุ่มแดงเล็ก ๆ ขึ้นมาในริมฝีปากด้านใน หรือกระพุ้งแก้ม หรือบริเวณลิ้น จากนั้นตุ่มแดง ๆ จะกลายเป็นเม็ดสีขาวมีขอบสีแดงนูนออกมา มีอาการบวม และกลายเป็นแผลที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ทำให้เรารู้สึกเจ็บ
แม้ว่าโดยปกติแล้วแผลร้อนในจะไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ทำให้คนที่เป็น เจ็บปวดและรำคาญไม่น้อยเลย ซึ่งโดยปกติแล้ว แผลร้อนในจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
วิธีแก้ไขอาการร้อนใน
โดยปกติแล้ว แผลร้อนในมักจะหายไปได้เองภายใน 7 วัน แต่ถ้าใครมีอาการปวดมาก ผ่านไป 7 วันแล้วก็ยังไม่หายเสียที คงต้องลองไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาดูค่ะ ซึ่งถ้าแพทย์ตรวจดูแล้วพบว่าเราเป็นเพียงอาการร้อนในธรรมดา ก็อาจจะให้ยามาทา หรือบ้วนปาก เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีข้อควรทำต่างๆที่จะช่วยให้อาการร้อนในหายได้เร็วขึ้นดังนี้ค่ะ
– หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกของทอด ของมัน ขนม น้ำตาล ทุเรียน ลำไย ข้าวเหนียวมะม่วง ฯลฯ อาหารพวกนี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดความร้อนสะสมในร่างกาย แต่ถ้าอยากทานจริงๆ ก็ทานได้ในปริมาณน้อยค่ะ
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น กระเทียม หอม ขิง ฯลฯ แต่สามารถทานพริกได้
– รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แปรงฟันทุกครั้งหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 30 นาที ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังอาหารด้วย
– รับประทานผัก ผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุ วิตามิน อย่างครบถ้วน และจะได้ป้องกันอาการท้องผูก เพราะร้อนในมักเป็นร่วมกับท้องผูก
– ดื่มน้ำให้มากๆ ในแต่ละวัน
– ลดความเครียดลง เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดร้อนในในช่องปากได้อย่างไม่น่าเชื่อ
– หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาช่วยลดความเครียด
– หลีกเลี่ยงการตากแดดจัด เพราะจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
อาหารแก้ร้อนใน
อาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ร้อน เมื่อทานเข้าไปแล้วทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ในร่างกาย จนปรากฏเป็นอาการร้อนในได้ เมื่อเป็นแบบนี้ การทานอาหารที่มีฤทธิ์ตรงข้าม ก็ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน และทำให้หายได้เร็วขึ้นเหมือนกัน
– มะระ เป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ
– ชะอม ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ขับลมในลำไส้
– ถั่วเขียว มีฤทธิ์ขับร้อนใน แก้กระหาย ขับปัสสาวะ
– ผักกาดขาว ช่วยแก้ร้อนใน ป้องกันมะเร็ง
– ปวยเล้ง เป็นยาเย็น ช่วยขับร้อน แก้กระหาย
– แตงกวา ขับปัสสาวะ แก้ไข้ กระหายน้ำ ไฟลวก ถ่ายพยาธิ แก้ท้องเสีย
– ตำลึง ดับพิษร้อนภายในร่างกาย ลดอาการไข้ เป็นยาระบายอ่อน ๆ
– ฟักเขียว มีฤทธิ์เย็น ช่วยถอนพิษ ขับร้อนในร่างกาย ขจัดเสมหะ ขับปัสสาวะ บำบัดอาการบวมน้ำ ไอ หอบ
– หัวไชเท้า ล้างพิษภายใน ดับพิษร้อน บำรุงไต ขับปัสสาวะ ละลายนิ่ว
– มะเฟือง ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนภายในร่างกาย ปวดศีรษะ บรรเทาอาการไอ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
– แตงไทย ดับกระหาย ลดความร้อนในร่างกาย ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ
– ลองกอง ลดอุณหภูมิความร้อนภายในร่างกาย แก้อาการร้อนใน ทำให้ชุ่มคอ
– ส้มโอ ช่วยในการขับถ่ายและขับสารพิษแก้อาการท้องอืด ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ผ่อนพิษไข้
– อ้อย ช่วยบำรุงร่างกาย ลดอุณหภูมิความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการกระหายน้ำ
– มังคุด ช่วยลดความร้อนภายใน แก้กระหายน้ำ ช่วยเพิ่มเมือกภายในลำไส้และกระเพาะทำให้ถ่ายคล่อง
– มะตูม ต้มดื่ม ช่วยแก้ร้อนใน ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสีย ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร
– เก๊กฮวย นำมาต้มดื่มช่วงหน้าร้อน ช่วยแก้ร้อนใน บำรุงตับ บำรุงประสาท บำรุงสายตา ขับลมในลำไส้
– กระเจี๊ยบ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการไอ
– รากบัว แก้ร้อนใน ลดไข้ บำรุงโลหิต ช่วยให้เจริญอาหาร
– หล่อฮั้งก้วย นำมาต้มดื่ม ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้ท้องผูก โรคหลอดลมอักเสบ หืด หอบ
– ใบบัวบก ช่วยแก้อาการร้อนใน ตัวร้อน รักษาอาการเจ็บคอ บำรุงโลหิตในร่างกาย บำรุงหัวใจ
หวังว่าสาวๆจะเข้าใจเกี่ยวกับอาการร้อนในและรู้วิธีในการป้องกันอาการร้อนในเพื่อให้อาการหายได้ไวยิ่งขึ้นนะคะ แต่ถ้าเกิดอาการร้อนในมานานแล้วไม่หายสักทีก็อย่าลืมไปพบแพทย์ด้วยนะคะ อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไป เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณของโรคอื่นๆก็เป็นได้!!
เรียบเรียงโดย raraROBYN
ที่มา postjung