รู้จัก 5 ความจริงของ “เนื้องอกมดลูก” ภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิง

ถ้าพูดถึงอวัยวะที่ผู้หญิงกลัวเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุด นอกจากเต้านมแล้วก็คือมดลูก ซึ่งเป็นอวัยวะเฉพาะของเพศหญิงที่มีบทบาทและหน้าที่ในช่วงชีวิตมากมาย เพราะเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฮอร์โมนเพศหญิงและการสืบพันธุ์ โดยเป็นสถานที่เจริญเติบโตของตัวอ่อนและขับประจำเดือนออกมา ซึ่งหากมดลูกมีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะส่งผลต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกายไม่มากก็น้อย อย่างเนื้องอกมดลูกเองก็เช่นกัน ถึงเวลาหนึ่ง ผู้หญิงอาจจะตรวจพบเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งแม้จะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ก็ส่งผลต่อความรำคาญใจในการใช้ชีวิต เราไปดู 5 ความจริงของเนื้องอกชนิดนี้ เพื่อเตรียมรับมือกันได้อย่างถูกต้องดีกว่า

เนื้องอกมดลูกอาจทำให้ปวดทรมานก็ได้ แต่บางรายก็ไม่มีอาการเลย

                อาการของเนื้องอกชนิดนี้อาจทำให้ผู้หญิงปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มามาก มาน้อย หรือมาถี่ขึ้น ส่งผลให้เกิดการซีดหรือโลหิตจาง อาจทำให้ปวดหน่วงเล็กน้อยหรือปวดมาก หากเนื้องอกไปเบียดหรือกดทับอวัยวะอื่นข้างเคียง เช่น เบียดไปโดนกระเพาะปัสสาวะจนต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น ในขณะที่บางรายก็ไม่มีอาการเลยและกว่าจะรู้ตัวว่ามีเนื้องอกก็คือตอนมีโอกาสได้ตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวด์เท่านั้น

เป็นแล้วเสี่ยงต่อการแท้งบ่อยและมีบุตรยาก

                หากเป็นเนื้องอกมดลูกในผนังกล้ามเนื้อมดลูกและเนื้องอกในโพรงมดลูก อาจทำให้มีการปวดหรือมีผลต่อประจำเดือน และที่รุนแรงกว่านั้นก็คือ อาจเป็นสาเหตุของการแท้งบ่อยครั้งและภาวะมีบุตรยาก เพราะตัวอ่อนอาจไม่สามารถฝั่งตัวหรือเจริญเติบโตได้ตามปกติ เนื่องจากเนื้องอกเหล่านี้นั่นเอง

เนื้องอกเป็นได้ก็ฝ่อได้เมื่อแก่ตัว

                สาเหตุของการเกิดเนื้องอกชนิดนี้นั้นยังไม่ทราบแน่นอน แต่เท่าที่มีข้อมูลนั้นพบว่า เนื้องอกชนิดนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างมาจากรังไข่ โดยฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้นได้ ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้นถึงวัยหมดฮอร์โมนแล้ว เนื้องอกนี้ก็อาจฝ่อเล็กลงไปเอง

ภาวะแทรกซ้อนพบได้ไม่บ่อยมาก

                เนื้องอกมดลูกอาจฟังดูน่ากลัว แต่จากรายงานและข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนนั้นมีน้อยมาก หากมีอาการแทรกซ้อนมักมาจากการกดเบียดหรือบิดตัวของก้อนเนื้องอกจนส่งผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ไตบวม และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ มีไข้ แต่โอกาสในการพัฒนาไปเป็นมะเร็งนั้นยังน้อยอยู่

มีถึง 3 ทางเลือกในการรักษา

                เช่นเดียวกับเนื้องอกชนิดอื่น ๆ เนื้องอกมดลูกนั้นมีทางเลือกในการรักษาถึง 3 แบบให้เลือกตามความรุนแรงของอาการและความเหมาะสม ได้แก่

  • การอัลตร้าซาวด์ติดตามอาการ ในกรณีที่เนื้องอกไม่ได้โตขึ้นหรือมีอาการใด ๆ ก็สามารถติดตามอาการไปเรื่อย ๆ ก่อนได้
  • การใช้ยาเพื่อลดอาการจากเนื้องอก เช่น ฮอร์โมนลดปริมาณประจำเดือน ยาแก้ปวด หรือบาที่เกี่ยวกับเลือดตามอาการที่ผู้ป่วยมี
  • การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก หรือผ่าตัดออกทั้งมดลูก